
จากกรณีเกิดพายุฝนกระหน่ำทั่วเมืองอุดรธานี จนทำให้เกิดน้ำท่วมตัวเมืองอุดรฯ ท่วมถนนเกือบทุกสายในเขตเทศบาลนครอุดรธานี โดยเฉพาะด้านหลังโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล เกิดน้ำท่วมสูงเกือบ 50 ซม. ประกอบกับทั้งเป็นช่วงเลิกเรียน พร้อมกับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อมีเหตุไฟฟ้าช็อตนักเรียนชาย จนนอนนิ่งอยู่ตรงโคนเสาไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณประตูด้านหลังโรงเรียน โชคดีมีรุ่นพี่ที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาฯ มาเห็นเหตุการณ์เข้าพอดี จึงได้เข้าช่วยน้องที่ถูกไฟดูดออกมาได้หวุดหวิด ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ซึ่งจากการที่การไฟฟ้าออกมาชี้แจง พบว่า เสาโคมไฟบริเวณถนนมีกระแสไฟฟ้ารั่ว สันนิษฐานว่าอาจจะมีกระแสไฟฟ้ารั่วอยู่ก่อนน้ำท่วมแล้ว เมื่อขณะมีน้ำท่วมขังเสาโคมไฟถนน ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วกระจายลงในน้ำ ทำให้คนที่เข้าไปใกล้ หรือสัมผัสเสาโคมไฟถนนจะถูกไฟฟ้าดูด ซึ่งเห็นได้ว่า แม้ไม่ได้สัมผัสก็มีโอกาสไฟฟ้าดูดได้ เฟซบุ๊กเพจ ฟิสิกส์แม่งเถื่อน ได้ออกมาให้ความรู้ เกี่ยวกับหลักการที่ทำให้เกิดไฟฟ้าดูดในสถานการณ์เช่นนี้ ระบุว่า
"ข่าวน้องที่โดนไฟดูดนี่มันอันตรายใกล้ตัวจริงๆ ครับ
นอกจากไฟฟ้าดูดที่เกิดจากการสัมผัสสายไฟแล้วไหลผ่านตัวเราลงดินที่เราคุ้นเคยแล้วก็ยังมีไฟดูดที่เกิดจากแรงดันช่วงก้าว (อิหยังวะ) คือตามรูปเลย
สมมติว่ามีแท่งอันนึง มีศักย์ไฟฟ้า 1000 โวลต์ ตรงจุดศูนย์กลางที่มันปักอยู่ก็จะ 1000 โวลต์ แล้วรัศมีที่แผ่ออกไปก็จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ 1000 โวลต์ 900 โวลต์ 800 โวลต์ 700 โวลต์ ลดไปเรื่อยๆ จนเป็น 0 โวลต์ ตามระยะที่ห่างจากจุดศูนย์กลาง

คราวนี้ถ้าขาเราบังเอิญ ข้างนึงจิ้มที่ 900 โวลต์ อีกข้างจิ้มที่ 700 โวลต์ ก็จะเกิดความต่างศักย์ระหว่างขาเราทั้งสองข้าง เท่ากับ 900-700=200 โวลต์ ความต่างศักย์ที่ว่าก็จะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านขาเรา ถ้าผ่านน้อยๆ ก็กล้ามเนื้อกระตุก ผ่านมากก็ชักเกร็งติดอยู่ตรงนั้น ยิ่งติดนานก็ยิ่งอันตราย ดังนั้นถ้าเพื่อนๆ เลี่ยงไม่ได้ หรือเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า พยายามก้าวขาแคบๆ หรือถ้ารู้สึกขนลุก มีอะไรทิ่มขา ก็พยายามหนีให้ไวแบบขาชิดๆ กระดึ้บๆ นะครับ"
นอกจากความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเอาตัวรอดจากการโดนไฟฟ้าดูด หรือการช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าดูดแล้ว การทำ CPR ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ ที่ทุกคนควรจะมีความรู้และทำเป็น เพราะฮีโร่ในเหตุการณ์นี้ ก็ช่วยชีวิตคนคนหนึ่งมาได้จากการทำ CPR นี่เอง
ที่มา ฟิสิกส์แม่งเถื่อน